โดย: แพททริค เทรล์


This article is from ECHO Asia Note # 37.บทความนี้ มาจาก สารเอคโค ฉบับที่ 37

[บทบรรณาธิการ: ช่วงการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ (ศูนย์ทรัพยากรพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก) ที่เอคโค เอเชีย อิมแพค เซ็นเตอร์ จังหวัดชียงใหม่ เราได้ใช้ประโยชน์มากกมายจาก “วัสดุเหลือใช้” ที่ได้มาจากการปลูกข้าว (แกลบและฟางข้าว) ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่เราอยู่ นี่เป็นการเสริมสร้างหลักการที่เป็นคติประจำใจที่เราชื่นชอบคือ “ใช้ในสิ่งที่มี เพื่อทำในสิ่งที่ขาด” จากวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในท้องถิ่นนี้มีประโยชน์มากมาย นี่จึงเป็นที่มาของการรวบรวมข้อมูลให้กับเครือข่ายของเราเกี่ยวกับข้อดีและข้อแนะนำในการนำไปใช้ของวัสดุที่ราคาประหยัดนี้ไปใช้] 

คำนำ

AN37_Trail Fig1
ภาพที่ 1: แกลบ วัสดุเหลือใช้จากการสีข้าว (Oryza sativa).

หนึ่งในโจทย์ของการทำเกษตรแบบยั่งยืนคือการมีแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์ (ที่มีองค์ประกอบหลักคือคาร์บอน) ที่เพียงพอ ราคาถูก และสามารถใช้ได้ในพื้นที่เกษตรที่ผลิตอาหารเพื่อบริโภคและเป็นอาหารสัตว์ การจัดการการใช้ประโยชน์สูงสุดจากปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก, วัสดุคลุมดิน และวัสดุอินทรีย์อื่นๆจากพื้นที่เกษตรถือเป็นเรื่องที่ต้องทำแน่นอนอยู่แล้ว โดยผลผลิตแต่ละอย่างต่างก็ต้องใช้วัตถุดิบและปัจจัยเพื่อการผลิตของมันเอง ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้มักทำให้เกิดภาวะที่แข่งขันกันภายในพื้นที่เกษตรเอง และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการจัดการให้เหมาะสมสำหรับเกษตรรายย่อยที่มีพื้นที่น้อยและมีความจำกัดด้านแรงงาน ตัวอย่างเช่นวัสดุคลุมดิน บางครั้งอาจต้องอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ และในขณะเดียวกันก็ต้องผลิตพืชเพื่อใช้เป็นวัสดุคลุมดินให้เพียงพอด้วย ยิ่งกว่านั้นการต้องใช้วัสดุเดียวกันนี้เพื่อผลิตปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิงก็นำมาซึ่งปัญหาที่ยุ่งยากขึ้นไปอีก 

หลังจากการไปเยี่ยมเยือนฟาร์มผสมผสานขนาดเล็กหลายแห่ง ทำให้เห็นว่าเกษตรกรรายที่ประสบความสำเร็จที่สุดดูจะมีวิธีการที่เหมือนกัน และลักษณะเด่นของวิธีการนี้คือมีวัสดุ “เหลือใช้” อินทรีย์ที่หาได้จากนอกฟาร์มและนำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในฟาร์ม มีฟาร์มแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้เศษซากปลาจากตลาดขายปลาสดในพื้นที่และนำเศษซากปลานี้กลับมาใช้เป็นแหล่งโปรตีนปลาป่นเพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับสัตว์เลี้ยง มีฟาร์มอีกแห่งหนึ่งที่ประเทศไทยที่ได้เศษผักปริมาณมากจากตลาดในพื้นที่เพื่อนำมาใช้ในระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน มีฟาร์มอื่นๆอีกที่ได้รับประโยชน์จากการอยู่ใกล้กับโรงกลั่นเบียร์, โรงสี, และโรงงานแปรรูปที่มีแหล่งวัสดุเหลือใช้มากมายที่จะนำมาใช้เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก, ถ่านไบโอชาร์ และอาหารเสริมร่วมกับวัตถุดิบอย่างอื่น  

บทความนี้จะเป็นการรวบรวมความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากวัสดุ “เหลือใช้” ที่มีอยู่ทั่วไปและหาได้ง่ายในพื้นที่เขตร้อนชื้น ซึ่งวัสดุที่กล่าวถึงนี้คือแกลบ  

แกลบคืออะไร  

แกลบคือผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าว (Oryza sativa) และมักจะถูกมองว่าเป็น “ของเหลือทิ้ง” ในพื้นที่ที่ทำการปลูกข้าวหลายแห่ง แกลบเป็นส่วนเปลือกแข็งที่หุ้มด้านนอกสุดของเมล็ดข้าว ซึ่งทางชีววิทยาศาสตร์คือเปลือกข้าว (lemma) มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำเมื่อเทียบกับเนื้อใน (endosperm) แกลบกับรำข้าวไม่เหมือนกัน โดยแกลบจะหลุดออกจากเมล็ดหลังจากกระบวนการสีข้าวครั้งแรก โดยรำข้าวจะมีการสีออกต่างๆหากเพื่อได้ “ข้าวขัดขาวหรือข้าวขาว” (ภาพที่ 3) โดยรำข้าวถือว่าเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าแกลบมากและถือเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่ามากกว่าแกลบที่มักถูกนำไปทิ้งหรือกองทิ้งไว้จนเน่าเสีย 

AN37_Trail Fig2
ภาพที่ 2:  ภาพประกอบเบื้องต้นของกระบวนการสีข้าว โดยที่ข้าวแต่ละเมล็ดจะถูกแยกเป็นเปลือก (แกลบ), รำ และข้าวขัดขาว (ภาพจาก Rice Knowledge Bank) 

 

AN37_Trail Fig3
ภาพที่ 3: เกษตรกรทางภาคเหนือของไทยกำลังใช้แกลบ (ในตะกร้า) ช่วยในการโปรยขี้ไก่ให้กระจายอย่างทั่วถึง 

ประโยชน์ 10 ประการที่ได้จากการใช้แกลบในการเกษตร 

  1. การผลิตปุ๋ยหมักและการปรับปรุงดิน 

การใช้ประโยชน์จากแกลบที่น่าจะเห็นได้ชัดและเป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือการนำไปปรับปรุงดิน โดยเฉพาะในรูปแบบของการผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ประโยชน์สำคัญของการใช้แกลบคือสามารถหาได้ในปริมาณมาก และแกลบมีคุณสมบัติในการเพิ่มปริมาณของปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ แกลบเป็นแหล่งของคาร์บอนที่มีความหนาแน่น ซึ่งเมื่อทำเป็นปุ๋ยหมักแล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการอุ้มน้ำและเก็บกักสารอาหารของดิน ปรับปรุงกระบวนการเกิดเม็ดดิน สร้างรูพรุน การซึมผ่านของน้ำและช่วยเสริมสร้างลักษณะทางกายภาพที่ดีของดินอีกหลายประการ  

สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือแกลบมีปริมาณคาร์บอนสูงและควรนำไปผสมกับวัสดุเพิ่มเติมอื่นที่มีไนโตรเจนสูง เช่นพืชสีเขียวและมูลสัตว์เพื่อให้การปรับปรุงดินเป็นไปอย่างสมดุล แกลบที่มีปริมาณคาร์บอนสูงเหมาะกับการปรับปรุงดินแต่ตัวมันเองไม่สามารถให้สารอาหารที่จำเป็นที่พืชจะดูดซึมและนำไปใช้ได้ จึงมีคำแนะนำว่าแกลบจะต้องนำไปผสมกับวัสดุประเภทอื่นที่มีสารอาหารสูงเพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักคุณภาพดีที่จะนำไปใช้กับพืชผัก นอกจากนี้แกลบยังสามารถนำไปผสมกับขี้วัวหรือขี้ไก่เพื่อเป็นวิธีง่ายๆที่จะทำให้การนำไปใช้กับพืชเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย (ภาพ 3) 

*คำสงวนสิทธิ์: การใส่แกลบดิบ(ที่ไม่ผ่านการหมัก) ลงไปโดยตรงในดิน เป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะเป็นการดึงไนโตรเจนในดิน โดยปกติดินจะต้องมีความสมดุลที่ดีระหว่างคาร์บอนและไนโตรเจน หรือที่เรียกว่าอัตรา C:N  แกลบมีอัตรา C:N ที่สูงมาก เมื่อเวลาผ่านไปขณะที่จุลินทรีย์ย่อยสลายคาร์บอนก็จะใช้ไนโตรเจนที่มีอยู่ไปด้วย จึงทำให้เกิดการไม่พอเพียงต่อพืช  

  1. การผลิตถ่านไบโอชาร์ (ถ่านชีวภาพ) 

การเปลี่ยนแกลบให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินมีอีกวิธีหนึ่งคือการผลิต “ถ่านไบโอชาร์” โดยผ่านกระบวนการ “ไพโรไลซิซ” (เผาไหม้ในสภาพที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ) วัสดุใดก็ตามที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นคาร์บอนจะถูกเปลี่ยนเป็นถ่าน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูพรุนสูงและมีรูปแบบเป็นคาร์บอนเสถียรที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ได้เมื่อผสมรวมกับวัสดุอย่างอื่นที่มีสารอาหาร ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นก่อนใส่ในดิน หรือที่เรียกว่าการ “บ่ม”ถ่านกับวัสดุที่เป็นแหล่งอาหารเช่นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักจึงเป็นวิธีที่ทำให้ “ถ่านไบโอชาร์” มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ (บทความภาษาอังกฤษของดร. ไมเคิล เชฟเฟอร์ในสารเอคโค เอเชีย ฉบับที่ 35) อย่างไรก็ตาม วัสดุที่เต็มไปด้วยรูพรุนนี้จะกลายสภาพเป็นเหมือนฟองน้ำ และเมื่อถูก “บ่ม” จนถึงความสามารถที่จะเก็บกักและเป็นที่อยู่ของสารอาหารต่างๆที่จำเป็นของพืช, น้ำ และจุลินทรีย์ ก็จะทำให้ถ่านไบโอชาร์เกิดประโยชน์อย่างมากมายในฐานะวัสดุปรับปรุงดิน (บทความภาษาอังกฤษของ ไบรอัน ฮิวเกิล ในสารเอคโค เอเชีย ฉบับที่ 9)  

ถ่านกัมมันต์หรือผงถ่านและถ่านไบโอชาร์ในรูปแบบต่างๆสามารถนำไปใช้กรองน้ำให้บริสุทธิ์ได้ มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการสร้างที่กรองน้ำเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับระบบที่สามารถกรองและแยกสารเคมีสังเคราะห์เช่นยาฆ่าแมลงและสารตกค้างประเภทยา (Kearns, 2014)  

ขณะนี้มีวิธีการและเทคโยโลยีทางเลือกมากมายที่นำไปใช้ได้ในการผลิตถ่านไบโอชาร์ได้เองในพื้นที่เกษตร รวมถึงวิธีต่างๆที่ออกแบบเพื่อใช้กับแกลบโดยเฉพาะ 

3. การทำเป็นเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงอัดแท่ง  

AN37_Trail Fig4ภาพที่ 4: เชื้อเพลิงอัดแท่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำจากแกลบที่ฟาร์มบ้านอโลฮา ประเทศฟิลิปปินส์ (ภาพโดย: Abram Bicksler) 

การใช้เทคโนโลยีทางเลือกแบบง่ายๆ สามารถนำแกลบไปผสมกับวัสดุอื่นที่มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอนที่หาได้ แล้วนำไปอัดเป็น “เชื้อเพลิงอัดแท่ง” เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกแทนฟืนและถ่าน (ภาพที่ 4) ขั้นตอนที่ง่ายๆนี้มีนำเสนออยู่ในสาร ECHO Technical Note #85 ในหัวข้อ การทำเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก (Briquette Presses for Alternate Fuel Use) นอกจากนี้แกลบดิบสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรงและไม่จำเป็นต้องอัดเป็นแท่งก่อนที่จะนำไปใช้ แต่ขั้นตอนการอัดเป็นก้อนนี้มีเพื่อเพิ่มคุณค่าการผลิตเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกร มีเตาชีวมวลรูปแบบต่างๆที่ใช้ในครัวเรือนและมีเตาที่ออกแบบมาเพื่อใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงด้วย เตารูปแบบนี้ออกแบบมาเพื่อการเผาไหม้ที่สะอาด มีประสิทธิภาพ และยังผลิตแกลบที่ผ่านกระบวนการไพโรไลซิสออกมาเป็นผลพลอยได้ที่สามารถนำมาทำเป็นถ่านไบโอชาร์ 

AN37_Trail Fig5
ภาพที่ 5:  ภาพขณะก่อสร้างห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ถุงดิน ที่ศูนย์การเรียนรู้เอคโค เอเชีย โดยในถุงดินที่ใช้ก่อสร้างนี้มีส่วนประกอบของแกลบอยู่ด้วย 
  1. วัสดุเสริมในการก่อสร้าง 

แกลบสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุเสริมในการก่อสร้างด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบพอเพียงหรือธรรมชาติ natural or sustainable building techniques  เช่นทำเป็นถุงดิน (ภาพ 5) หรือเทคโนโลยีการทำผนังดินอัด (Tosi, 2017) แกลบมีข้อดีคือทำให้วัสดุธรรมชาติที่ใช้ร่วมกันมีปริมาณและความจุเพิ่มขึ้น  ย่อยสลายช้า และมักจะไม่เป็นที่อยู่ของเชื้อราเพราะตัวแกลบเองไม่ดูดความชื้น นอกจากนั้น แกลบยังเป็นฉนวนเก็บอุณหภูมิที่ดีและเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบามาก 

AN37_Trail Fig6
ภาพที่ 6: การเลี้ยงหมูหลุมโดยใช้แกลบเป็นวัสดุรองก้นหลุม ฟาร์มบ้านอโลฮา ประเทศฟิลิปปินส์
  1. เป็นวัสดุรองพื้นในระบบการเลี้ยงหมูหลุมและไก่หลุม 

อีกสิ่งหนึ่งที่คนเอเชียนิยมนำแกลบไปใช้คือนำไปใช้ในระบบการเลี้ยงสัตว์ โดยส่วนมากนำไปเป็นวัสดุรองคอกสัตว์ ที่พบมากคือในระบบการเลี้ยงหมูหลุม Deep litter pig systems และไก่หลุม ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงที่มีข้อดีกว่าระบบการเลี้ยงทั่วไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความต่างๆของเอคโค) การนำแกลบมาใช้เป็นวัสดุรองก้นหลุม จะช่วยให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้คอกสัตว์ไม่ชื้นแฉะเมื่อเทียบกับวัสดุรองก้นหลุมชนิดอื่น ขณะเดียวกันแกลบจะช่วยให้สัตว์รู้สึกสบายและพัฒนาคุณภาพพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ (ภาพที่ 6) โดยแกลบจะเป็นตัวช่วยดูดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ทำให้เกิดฝุ่นมากเกินไป และเมื่อถึงเวลาระยะหนึ่งก็สามารถตักออกเพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ การฉีดพ่น EM (Effective Microorganisms) และ IMO (Indigenous Microorganisms) เป็นประจำจะช่วยทำลายเชื้อก่อโรคและย่อยสลายสารอาหารในระบบ 

*คำสงวนสิทธิ์: วัสดุรองพื้นในระบบการเลี้ยงแบบหลุมที่จะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงดินควรมีระยะเวลาการหมักที่เหมาะสมเมื่อตักออกจากคอกสัตว์แล้ว เพราะวัสดุนี้ถือเป็นวัสดุ “ร้อน” (มีความเค็มสูง) และอาจเป็นอัตรายต่อต้นอ่อนของพืช โดยควรคำนึงด้วยว่าวัสดุนี้อาจมีค่า pH ที่สูงเนื่องจากมีองค์ประกอบโซเดียมสูงจากมูลสัตว์และฉี่สัตว์ ซึ่งใช้ได้ดีกับดินกรดแต่จะเป็นอันตรายหากมีค่า pH สูงอยู่แล้ว (>7)  

  1. อาหารเสริมให้กับสัตว์ 

เมื่อพูดถึงวัสดุที่จะเป็นอาหารเสริมให้กับสัตว์นั้น แกลบถือเป็นอาหารหยาบที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ องค์ประกอบโปรตีนในแกลบมักอยู่ในระดับต่ำด้วย (วัตถุแห้ง ~3.8%) ขณะที่เส้นใยหยาบมีปริมาณสูง(~40%) และด้วยเหตุนี้แกลบจึงใช้เป็น “ตัวกรอง” และบางครั้งเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร แม้แกลบจะถือว่าเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าสารอาหารน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือควรทำการผสมแกลบในปริมาณเล็กน้อย (ไม่เกิน 15%) ในอาหารข้นของสัตว์เคี้ยวเอื้องและสุกร (AFRIS, 2002) งานศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าแกลบที่ผ่านการบดหรือนึ่งแล้วจะให้พลังงานที่มากกว่าและสัตว์สามารถย่อยได้เมื่อกินเข้าไป ขณะที่การใส่แอมโมเนียหรือยูเรียอาจช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารและทำให้แกลบมีคุณภาพทางโภชนา (FAO) วิธีนี้เป็นที่นิยมโดยทั่วไปและสามารถลดต้นทุนส่วนประกอบสำหรับทำอาหารสัตว์ได้โดยการใช้แกลบที่มีราคาถูก และที่สำคัญคืออย่าลืมพิจารณาความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างแกลบและรำข้าว เพราะรำข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมที่สูงกว่าแกลบมาก (ภาพที่ 7) 

  1. การทำวัสดุปลูก 

แกลบสามารถนำมาทำเป็นส่วนประกอบหลักของวัสดุปลูกได้อย่างดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่ต้องการทำไว้ใช้เอง เมื่อนำแกลบผสมร่วมกับวัสดุอื่นแล้ว (เช่นปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก, ดิน, ฯลฯ) จะช่วยเพิ่มปริมาณ, มีการระบายน้ำที่ดีและมีรูพรุน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเพาะต้นอ่อนของพืชผักหรือต้นไม้ที่ยังอ่อนแอ (ภาพที่ 8) แกลบเป็นทางเลือกที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายเพื่อทดแทนหินเพอร์ไลท์ หรือหินภูเขาไฟเนื้อแก้ว ที่มีราคาแพงและหายากในบางพื้นที่ แต่แกลบก็มีข้อจำกัดที่ตัวมันเองไม่สามารถให้สารอาหารกับพืชได้และการใช้แกลบในกรณีนี้ก็เพื่อใช้เป็นวัสดุปลูกแทนดินมากกว่าเป็นแหล่งอาหาร  

การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแกลบที่เอามาทำเป็นวัสดุปลูก สามารถทำได้ด้วยการฆ่าเชื้อก่อนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราและแบคทีเรียที่ก่อโรคที่พบได้ทั่วไปในโรงเรือน การรมควันหรือตากให้แห้ง Smoked or parched rice hulls และการทำไพโรไลซิส (ถ่านไบโอชาร์) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แกลบก่อนที่จะนำไปใช้ (AVDRC, 2000)  

AN37_Trail Fig7
ภาพที่ 7:  เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการระหว่างแกลบและรำข้าว (AFRIS, 2002)

​​​​​​8. วัสดุเพาะเห็ด  

ไมซีเลียมสามารถเพาะเพื่อขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเชื้อไว้ในวัสดุเพาะต่างๆ และโดยทั่วไปแล้ววัสดุเพาะที่ใช้นั้นมักจะขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่มีอะไรและมีราคาที่ไม่แพง ขี้เลื่อยจากไม้เนื้อแข็งและฟางเป็นวัสดุเพาะที่นิยมมากที่สุดในการเพาะเห็ดทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีวัสดุเพาะอย่างอื่นอีกหลายอย่างที่ใช้กัน ได้แก่ กาบมะพร้าว, มูลสัตว์, กากกาแฟ และที่แน่นอนคือ...แกลบ เห็ดนางฟ้าและเห็ดมิลค์กี้เป็นเห็ดที่เติบโตได้จากวัสดุเพาะที่เป็นแบบมีแกลบอย่างเดียว และแบบที่มีแกลบผสมกับอย่างอื่น 

แกลบก็เช่นเดียวกับวัสดุเพาะเห็ดชนิดอื่นคือจะต้องผ่านการพาสเจอไรส์ หรือการฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำมาใช้เพาะเชื้อ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากเชื้อราและแบคทีเรียชนิดอื่น กระบวนการนี้มักจะทำด้วยการใช้ถังเหล็กขนาดใหญ่และน้ำเดือด หรืออาจผ่านการพาสเจอไรส์ด้วยแสงอาทิตย์ด้วยการใช้กล่องโฟมแสงอาทิตย์ innovative solar styrofoam box method (ดูเพิ่มเติมที่บทความของดร.ทาปานี ในสารเอคโคเอเชีย ฉบับที่ 33) ขณะที่เห็ดบางชนิดอาจเพาะได้จากการใช้วัสดุเพาะที่มีแกลบเพียงอย่างเดียว แต่มีข้อแนะนำว่าควรใช้แกลบผสมกับวัสดุอย่างอื่นด้วย เช่นขี้เลื่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักปริมาณความชื้น มีการพิสูจน์แล้วว่าเห็ดนางฟ้าจะออกดีในครั้งแรกจากก้อนเห็ดแบบที่ใช้แกลบเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนั้นจะไม่สามารถเก็บรักษาความชื้นไว้ได้นานพอที่จะออกได้ดีในครั้งต่อๆมา 

AN37_Trail Fig8
ภาพที่ 8: วัสดุปลูกต้นอ่อนที่ทำขึ้นจากการใช้แกลบเป็นส่วนผสมหลัก 

9.วัสดุปลูกในระบบไฮโดรโพนิคส์และอควาโพนิคส์ 

การปลูกพืชในระบบ “ไร้ดิน” เช่นไฮโดรโพนิคส์หรืออควาโพนิคส์จะต้องมีการใช้ “วัสดุปลูก” ซึ่งวัสดุปลูกที่ใช้จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบและที่วัสดุปลูกมีความจำเป็นคือเพื่อช่วยพยุงระบบรากให้ต้นพืชสามารถตั้งตรงได้ วัสดุที่ใช้อย่างแพร่หลายได้แก่กาบหรือใยมะพร้าว, หินปลูก, หินเพอร์ไลท์, ทราย, โฟม, กรวด และวัสดุอื่นๆที่ไม่ทำปฏิกิริยา เป้าหมายของการใช้วัสดุปลูกไม่ใช่เพื่อเป็นแหล่งสารอาหารของพืช (สารอาหารจะถูกดึงไปผ่านทางน้ำ) แต่วัสดุปลูกจะเป็นตัวช่วยด้านกายภาพให้พืชเติบโตตามโครงสร้างของพืช แกลบเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีเพราะไม่ดูดซับน้ำและใช้เวลานานในการย่อยสลาย นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการวัสดุปลูกจากธรรมชาติ คำแนะนำคือควรจะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยการนึ่งแกลบก่อนนำไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อระบบและเสี่ยงต่อผลที่จะกระทบถึงระบบทั้งหมด  

  1. ความคิดเห็นของท่าน! 

ข้อดีหนึ่งของเอคโคคือการที่เรามีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายและเราได้รับความคิดเห็นต่างๆที่ผ่านประสบการณ์โดยตรงในพื้นที่ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งหากท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่ท่านเห็นว่าใช้ได้จริงและมีประโยชน์ที่สุด ท่านอาจเห็นว่าแกลบยังมีประโยชน์ในด้านอื่นอีกที่อยากจะแบ่งปันกับเรา หรือยังมีแนวทางและนวัตกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ เรายินดีและพร้อมเสมอที่จะรับฟังข้อมูลจากท่าน  

สรุป 

ข้อมูลต่างๆที่ได้นำเสนอไปนั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และในหลายพื้นที่ก็มีการนำไปใช้และปฏิบัติกันอยู่แล้ว เป้าหมายของบทความนี้คือเพื่อช่วยย้ำเตือนเราว่า “ใช้ในสิ่งที่มี เพื่อทำในสิ่งที่ขาด“ จะทำให้เกิดผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนในบริบทของพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรรายย่อย และการใช้ประโยชน์จากเศษหรือวัสดุ “เหลือใช้” เช่นแกลบ ไม่เพียงแต่ใช้ได้จริงและเกิดผล แต่ยังนำมาซึ่งผลกำไรด้วย การส่งเสริมเทคนิคต่างๆนี้ยังอาจนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าด้วยการกำหนดราคาแกลบในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการช่วยผู้ผลิตข้าว(ที่อาจมีอยู่หลายราย) ให้มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการเปลี่ยนสิ่งที่เคยคิดว่าเป็น “ของเหลือทิ้ง” ให้มีมูลค่าได้  

 

อ้างอิง

AFRIS. 2002. Rice Hulls. Feedipedia – Animal Feed Resources Information System. http://www.fao.org/Wairdocs/ILRI/x5494E/x5494e07.htm

AVDRC. 2000. Smoked Rice Hulls as a Planting Medium for Seedlings. ECHO Asia Notes. 69:4. Reprinted: Asian Vegetable Research and Development Center. https://www.echocommunity.org/en/resources/5ea0de8f-ab26-4d4b-8dbd-ef35611d2e79

Dahlman, J., C. Forst. 2000. Briquette Presses for Alternate Fuel Use. Edited: C. Bielema. ECHO Technical Notes. 85:1-6. https://www.echocommunity.org/en/resources/66b79f83-17ed-408e-a256-e6ea4cda2f1c

ECHO Collection of Deep Litter Pig Resources. https://www.echocommunity.org/en/resources/846dd289-9b6e-4b60-9a40-0f8cc9788e24

Hough, J. 1956. Possible Uses for Waste Rice Hulls in Building Materials and Other Products. LSU Agricultural Experiment Station Reports. p 1-36. https://digitalcommons.lsu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1717&context=agexp

Hugill, B. 2011. Biochar – An Organic House for Microbes. ECHO Asia Notes. 9:1-7. https://www.echocommunity.org/en/resources/60196dbc-c62a-4bcf-a33f-251e7195d62c

Kearns, J. 2014. Biochar for Control of Trace Contaminants in Water. ECHO International Conference. North Fort Myers, FL, USA. https://www.echocommunity.org/en/resources/8dff03e9-b819-43b4-a601-2875aa9ac050

Rice Knowledge Bank. Paddy Grain and Its Products after Husking. Accessed January, 2019. http://knowledgebank.irri.org/step-by-step-production/postharvest/rice-by-products/rice-husk

Shafer, M. 2018. Putting Biochar to Use at the Edge: Quality, Soils, and Measurement. ECHO Asia Notes. 30:6-13. https://www.echocommunity.org/en/resources/8ceff8e5-2953-4a8d-bcdf-5cbe39447513

Tapani, H., M. Lyytien. 2017. An Innovative, Inexpensive, and Environmentally Friendly Method to Pasteurize Mushroom Media in the Tropics Using a Styrofoam Box. ECHO Asia Notes. 33:1-3. https://www.echocommunity.org/en/resources/9e3e3a75-aee5-4f37-b43b-9bafb36bb66b

Tosi, M. 2017. An Introduction to Earth Building Techniques. ECHO Asia ‘Improving Lives’ Agriculture and Community Development Conference. https://www.echocommunity.org/en/resources/18100a05-0fe0-4859-99e0-3f9423c917bb