คู่มือภาพสำหรับการเปรียบเทียบความเสียหายที่เกิดจากแมลงศัตรูพืชและจากโรคพืชทั่วไป
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมษายน 2021 โดย เจ้าหน้าที่ขององค์กรเอคโค่
ร่องรอยความเสียหายจากการถูกแมลงกัดกินหรือจากกิจกรรมอื่นๆของแมลงอาจมีลักษณะคล้ายกับโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส หรือลักษณะการขาดธาตุอาหารของพืช ก่อนที่จะดำเนินการใดกับแมลงศัตรูพืชที่คาดว่าเป็นสาเหตุ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าอาการที่สังเกตพบนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา และเนื่องจากยาฆ่าแมลงจะใช้ไม่ได้ผลกับการติดเชื้อดังที่กล่าวมานี้ และการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างไม่เหมาะสมอาจเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อาจนำไปสู่การทำลายแมลงที่มีประโยชน์ได้ ในการเปรียบเทียบด้วยสายตาระหว่างโรคพืชและร่องรอยทำลายจากแมลงศัตรูพืช คุณสามารถใช้คู่มือนี้ที่มีภาพเปรียบเทียบคู่กันระหว่างความเสียหายในพืชที่คนมักจะสับสน
ความเสียหายจากแมลงที่ใช้ปากกัดกิน
แมลงที่ใช้ปากกัดกินได้แก่ ตัวหนอน (ตัวอ่อนของกลุ่มอันดับ Lepidoptera), ตั๊กแตนและจิ้งหรีด (กลุ่มอันดับ Orthoptera), ด้วงและมอด (กลุ่มอันดับ Coleoptera) ภาพ A คือหนอนกระทู้ที่อยู่บนใบผักโขมนิวซีแลนด์ สังเกตว่ารอยกัดเกิดก่อนจากด้านในระหว่างเส้นใบ ภาพ B เป็นรอยที่เกิดจากด้วงงวงศรีลังกาตัวเต็มวัย สังเกตว่ารอยกัดเกิดจากด้านนอกตรงขอบใบเข้าไปตรงกลาง รูปแบบการกัดกินจะช่วยในการพิจารณาว่าศัตรูพืชอยู่กลุ่มอันดับใด หากไม่เห็นตัวมันในขณะนั้น ส่วนตั๊กแตนและจิ้งหรีดนั้นชอบพืชผลประเภทหญ้า และมักจะกัดกินจากขอบใบด้านนอกเข้าไปยังตรงกลางใบ
ความเสียหายจากแมลงที่ใช้ปากเจาะดูด
แมลงที่ใช้ปากเจาะดูดมักจะทำให้ใบ ผล หรือลำต้นเปลี่ยนสีไปและเกิดรอยด่าง (ภาพ A คือมวนปีกแก้วบนใบถั่วพร้า และภาพ B คือมวนนักกล้ามบนผลมะเขือเทศ) ลักษณะแบบนี้มักทำให้เกิดความสับสนกับอาการที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อราบางชนิด รวมถึงอาการขาดธาตุอาหารบางชนิดด้วย แมลงศัตรูพืชเหล่านี้ยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบตาย ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลที่อาจทำให้สับสนกับโรคที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย แมลงปากเจาะดูดบางชนิดอาจทำให้ใบมีรูปร่างบิดเบี้ยวไป เช่น เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ทำให้ใบส้มบิดเข้าด้านใน (ภาพ C) แมลงปากเจาะดูดชอบอยู่ทางด้านใต้ใบเพราะผิวใบด้านนั้นมีความอ่อนและเจาะได้ง่ายกว่า ดังนั้น ควรทำการตรวจดูใต้ใบเพื่อหาแมลงชนิดนี้
อาการโรคจากเชื้อไวรัส
โรคจากเชื้อไวรัสอาจมีลักษณะที่ดูคล้ายกับโรคอื่นๆหรือความเสียหายจากศัตรูพืชทั่วไป อาการติดเชื้อไวรัส เช่น ใบม้วนหรือใบหด (ภาพ A ใบของต้นบานชื่น) ซึ่งมักจะทำให้สับสนกับความเสียหายที่เกิดจากแมลงปากเจาะดูด การเปลี่ยนสีและการเกิดรอยด่างบนผิวหน้าของใบเป็นอาการติดเชื้อไวรัสอย่างหนึ่ง (ภาพ B ไวรัส Maize Chlorotic Mottle Virus ในข้าวโพด) ที่มักจะดูคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหารในพืช
อาการโรคจากเชื้อแบคทีเรีย
โรคจากเชื้อแบคทีเรียมักวินิจฉัยได้ยากเพราะมีลักษณะคล้ายโรคที่มาจากเชื้อรามาก หนึ่งในลักษณะเด่นคือรอยจุดของแบคทีเรียมักมีวงสีเหลืองล้อมรอบอยู่ขอบด้านนอกของจุด (ภาพ A ใบมะเขือ) เมื่อเนื้อเยื่อภายในจุดนั้นตาย ก็อาจหลุดร่วงออกจึงทำให้เกิดลักษณะที่เป็นรู เหมือนกับรอยกัดกินของแมลง นอกจากนี้ แบคทีเรียยังเป็นสาเหตุของอาการอื่นๆในพืช เช่น แคงเกอร์ (ภาพ B บนต้นพลัม) อาการปุ่มปม หรือแผลเป็นจุด ที่ดูเปียกหรือมัน อาการปุ่มปมอาจมีสาเหตุมาจากการถูกแมลงศัตรูพืชเช่นในภาพ C ที่ถูกไรดูดทำลายทำให้เกิดปุ่มปมในองุ่น หรือจากแบคทีเรีย หรือไวรัส หากมีของเหลวไหลออกมาจากพืช ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ในบางกรณี
อาการโรคจากเชื้อรา
โรคเชื้อรามักปรากฏเป็นจุดคล้ายกับจุดแบคทีเรีย แต่มักจะไม่ดูเปียก แต่มีลักษณะเด่นของวงแหวนตรงใจกลาง (ภาพ A และ B) นอกจากนี้ เชื้อราอาจเป็นสาเหตุของโรคเน่าคอดิน ที่ลำต้นที่งอกใหม่ของต้นกล้าและต้นอ่อนที่เพิ่งย้ายปลูกล้มพับลง ทำให้ต้นพืชทั้งต้นล้มและตาย แมลงปากเจาะดูดบางชนิด เช่น เพลี้ย จะหลั่งสารที่เป็นน้ำตาลออกมาที่มีส่วนช่วยให้เชื้อราบางชนิดเติบโตได้ดี เช่น ราดำบนผิวใบ (ภาพ C) ที่ทำให้การสังเคราะห์แสงทำได้ไม่เต็มที่
อาการขาดธาตุอาหาร
อาการขาดธาตุอาหารในเนื้อเยื่อของพืชอาจทำให้สับสนกับลักษณะการถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย (ภาพ A เป็นอาการขาดไนโตรเจนในข้าวโพด, ภาพ B เป็นอาการขาดแมกนีเซียมในข้าวฟ่างและฟักทอง, ภาพ C เป็นการขาดซัลเฟอร์ในถั่วมะแฮะ) การขาดธาตุอาหารหรือเข้าไม่ถึงธาตุอาหาร (เนื่องจากค่า pH หรือลักษณะเนื้อดิน) เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนสี หรือเปลี่ยนลักษณะของพืชที่ไม่เกี่ยวกับการถูกแมลงศัตรูพืช หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการขาดธาตุอาหารในพื้นที่เพาะปลูก สามารถดูได้ที่ Asia Note ฉบับที่29 [http://edn.link/drjqee]
อาการคล้าย แต่มีสาเหตุอย่างอื่น
ลักษณะใบที่เป็นโรคเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้าง (ภาพ A) และโรคราแป้ง (ภาพ B) อาจดูคล้ายกับการถูกแมลงเจาะดูดทำลาย แต่โรคราน้ำค้างจะเกิดอยู่เฉพาะบริเวณเส้นใบ ทำให้ดูเป็นก้อนใหญ่โดยมีเชื้อราเติบโตอยู่ข้างใต้ใบ ส่วนโรคราแป้งจะมีวงกลมสีด่างๆเล็กๆอยู่ทั่วใบ โดยมักมีสีขาวของสปอร์อยู่บนผิวใบด้านใดด้านหนึ่ง โรคทั้งสองนี้อาจเป็นที่สับสนกับรอยที่ถูกแมลงเจาะดูด (ภาพ C เป็นมวนปีกแก้วบนถั่วพร้า โดยมีรูปมวนปีกแก้วในช่องภาพเล็ก) ทำให้เกิดรอยด่างเป็นจุดเล็กๆที่แมลงมาเจาะดูดกินอาหารด้านใต้ของใบ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดจุดเนื้อตายสีน้ำตาลที่ดูคล้ายกับโรคราน้ำค้าง
แมลงวันหนอนชอนใบเป็นแมลงวันขนาดเล็กที่กินเนื้อเยื่อภายในใบเป็นอาหาร (ภาพ A ในใบมะเขือเทศ และภาพ B ในใบต้นลินเดน) แมลงวันหนอนชอนใบนี้อาจทำให้เกิดรอยด่างบนใบที่ตายแล้ว ความเสียหายนี้อาจดูคล้ายกันมากกับใบที่เป็นโรคเชื้อรา (ภาพ C เชื้อราในใบฟักทอง และภาพ D จุดน้ำมันดินบนใบเมเปิล) อย่างไรก็ตาม เราสามารถระบุสาเหตุได้โดยง่ายด้วยการค่อยๆลอกชั้นด้านบนของใบที่เสียหายออก หากสาเหตุความเสียหายมาจากแมลงวันหนอนชอนใบ ส่วนใบที่ตายจะเป็นโพรง และมักพบซากแมลงหรือซากผิวหนังแมลงอยู่ด้านใน
ความเสียหายจากไร เช่น ไรแมงมุง (ภาพ A บนหญ้าขน) อาจถูกเข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นอาการขาดธาตุไนโตรเจน (ภาพ B ในข้าวโพด) หรืออาการขาดธาตุซัลเฟอร์ (ภาพ C ในถั่วมะแฮะ) อาจต้องใช้แว่นขยายมือถือหรือกล้องจุลทรรศน์ส่องดูว่ามีตัวไรอยู่บนผิวหน้าของใบหรือไม่ อาการขาดธาตุอาหารมักจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะเกิดผลกระทบกับใบแก่หรือใบอ่อน หรือมีรูปแบบเหมือนกันของเนื้อเยื่อตายรอบขอบใบ ปลายใบ หรือมีสีเหลืองระหว่างเส้นใบ
สารกำจัดวัชพืชที่ปลิวมา (ภาพ A ในข้าวสาลีฤดูหนาว) อาจดูคล้ายกับโรคเชื้อรา (ภาพ B ในข้าว) หรืออาการขาดธาตุแมกนีเซียม (ภาพ C ในข้าวฟ่าง) ถ้าพื้นที่เพาะปลูกของคุณตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับสารกำจัดวัชพืช ให้คอยสังเกตร่องรอยความเสียหายที่จะเป็นแบบเดียวกันตลอดแนวด้านนอกว่าอาจเกิดขึ้นจากยาที่ปลิวมาจากการฉีดพ่นสารเคมี
คู่มือฉบับนี้จัดทำลิขสิทธิ์ในปี 2021 รูปภาพทั้งหมดถ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของเอคโค่ เอคโค่เป็นองค์กรคริสเตียนที่ไม่แสวงหาผลกำไร หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับผู้ปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมและการพัฒนาชุมชน ติดต่อได้ที่เว็บไซท์ของเราคือ: www.ECHOcommunity.org