จาก: ECHO Asia News


การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน

 

Biopest Image 1

บางท่านที่อ่านงานเขียนเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืช อาจสังเกตหัวข้อ "การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน" (Integrated Pest Management หรือตัวย่อคือ IPM) มักใช้สลับกับ "การควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน" (Integrated Pest Control หรือตัวย่อคือ IPC) ทั้งสองอย่างมีความใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็ตาม IPC หมายถึงวิธีการต่างๆที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงการบูรณาการสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นธรรมชาติกับสารเคมีเข้าด้วยกัน ส่วน IPM นั้นมีการพิจารณาถึงปัจจัยทางด้านนิเวศน์วิทยาและเศรษฐกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเฝ้าดูอย่างระมัดระวังถึงชนิดและปริมาณศัตรูพืชที่อยู่ในบริเวณนั้นและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทั้งนี้วิธีแบบ IPM อาจไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมศัตรูพืช หรือเลือกเพียงการควบคุมบางวิธีที่ดีกว่า หรือวิธีที่ดีที่สุดคือการใช้หลายวิธีรวมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของคุณ  ดังนั้นวิธีการหลายๆวิธีของ IPM จึงได้รับการส่งเสริมโดยองค์กร FAO เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ที่เป็นการนำเสนอวิธีที่เป็นรูปธรรมให้กับเกษตรกรในการต่อสู้กับศัตรูพืชได้ในลักษณะที่จะส่งเสริมการผลิตพืชผลที่ดีต่อสุขภาพ ให้ผลตอบแทนด้านการเงิน และมีความปลอดภัยต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

หลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (โดยองค์กร FAO)

 

1. ปลูกพืชที่แข็งแรง

หลักการสำคัญของ IPM คือให้ความสำคัญกับการเลือกพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ ตลอดจนการให้ปุ๋ย การให้น้ำ และการจัดการดินที่จะช่วยให้พืชเติบโตได้ดีที่สุด การปลูกพืชที่แข็งแรงที่มีความต้านทานโรคและแมลงได้ดีที่สุดคือพื้นฐานเบื้องต้นของ IPM

2. เข้าใจและรักษาดูแลนักล่าในธรรมชาติ

 มีนักล่าในธรรมชาติ หลายชนิดที่เป็นมิตรกับการทำเกษตรแบบยั่งยืน ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องสังเกตชีวิตของแมลงเพื่อจะเข้าใจกลุ่มสิ่งมีชีวิตของศัตรูพืชที่อาศัยในบริเวณนั้นและรู้ถึงบทบาทของนักล่าในธรรมชาติที่อยู่ในวงจรชีวิตและห่วงโซ่อาหารในพื้นที่การเกษตร การควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีทางชีวิภาพที่มีประสิทธิภาพควรมีการผสมผสานด้วยกันกับศัตรูธรรมชาติที่เป็นนักล่าในธรรมชาตินี้ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค

2.1 ตัวห้ำ เป็นสัตว์หรือแมลงที่ล่าสัตว์หรือแมลงอื่นๆเป็นเหยื่อ และโดยทั่วไปแล้วเหยื่อนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า มีปริมาณมากกว่า และอยู่ในทุกระยะของช่วงวัย (ไข่, ตัวอ่อน, ดักแด้, ตัวเต็มวัย) ตัวห้ำที่เป็นศัตรูธรรมชาติที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ นก, กบ, คางคก, กิ้งก่า, งู, แมงมุม, แมลงปอ,ด้วงเต่าลายหยัก, ด้วงเต่าสีส้ม, ด้วงดิน, แมลงช้างปีกใส, มวนพิฆาต และตั๊กแตนตำข้าว โดยตัวห้ำสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่

                    2.1.1. ตัวห้ำแบบปากกัด (เช่น ด้วงเต่าลายหยัก, ด้วงเต่าสีส้ม, ด้วงดิน)

                    2.1.2 ตัวห้ำที่มีปากแบบแทงดูด ( เช่น มวนพิฆาต)

2.2. ตัวเบียน เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอยู่บนสิ่งมีชีวิตอื่น ที่เรียกว่าสัตว์หรือแมลงอาศัย โดยทำให้สัตว์หรือแมลงนั้นอ่อนแอหรือตายไปในที่สุด ตัวเบียนสามารถเข้าไปอยู่ภายในและเติบโตได้ในทุกระยะของสัตว์หรือแมลงอาศัย (ไข่, ตัวอ่อน, ดักแด้, ตัวเต็มวัย) และมีชีวิตอยู่ได้ตลอดในสัตว์หรือแมลงอาศัยเพียงตัวเดียว ตัวเบียนที่เป็นตัวเมียจะทำอันตรายเหยื่อด้วยการวางไข่ในตัวเหยื่อ ตัวอย่างเช่น แตนเบียนไตรโคแกรมมา และแตนเบียนอนาสตาตัส

2.3 เชื้อโรค คือจุลินทรีย์ที่อาศัยและเจริญเติบโตในสัตว์หรือแมลง จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค หรือทำให้ตายในที่สุด เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้แก่ เชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, ไส้เดือนฝอย และโปรโตซัว โดยตามธรรมชาติแล้ว เชื่อโรคหลายชนิดจะโจมตีแมลงศัตรูพืช จึงถือว่าเชื้อโรคเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการควบคุมศัตรูพืชแบบผสมผสาน

2.3.1. เชื้อไวรัสเพื่อการกำจัดศัตรูพืชแบบชีวภาพ: การใช้ประโยชน์จากเชื้อไวรัสเพื่อกำจัดศัตรูพืชเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้าง ตัวอย่างที่ของไวรัสชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพสูงคือไวรัสเอ็นพีวี (NPV ย่อมาจาก Nuclear Polyhedrosis) ซึ่งถือเป็นไวรัสกำจัดศัตรูพืชทางชีวภาพที่สามารถกำหนดเป้าหมายศัตรูพืชบางชนิดได้อย่างเจาะจง เช่น ไวรัสเอ็นพีวีของหนอนกระทู้หอมจะทำร้ายเฉพาะหนอนกระทู้หอม และไวรัสเอ็นพีวีของหนอนเจาะสมอฝ้ายก็จะทำร้ายเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย โดยแมลงที่มีประโยชน์ชนิดอื่นจะไม่ถูกรทำร้าย ไวรัสเอ็นพีวีสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วภายในตัวอาศัย และทำให้ตัวอาศัยนั้นตายไปอย่างรวดเร็ว และยังสามารถแพร่กระจายได้โดยง่าย รวมถึงการแพร่กระจายเชื้อโดยผีเสื้อ

อาการ: เมื่อตัวหนอนติดเชื้อเอ็นพีวีแล้ว พวกมันจะเริ่มเคลื่อนไหวช้าลง กินน้อยลง ตัวจะเริ่มเปลี่ยนสี และพวกมันจะพยายามปีนไปบนยอดปลายสุดของต้นพืช พวกมันจะเกาะอยู่นิ่ง หยุดกินอาหาร และตายไปในลักษณะห้อยหัว ผนังที่ช่องท้องจะเปิดออกและปล่อยอนุภาคโปรตีนที่ตกผลึกของเอ็นพีวีที่มีไวรัสอยู่ออกมาและแพร่กระจายไปตามลมและน้ำ ซึ่งทำให้แมลงศัตรูพืชพวกเดียวกันได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไป

2.3.2. เชื้อแบคทีเรียเพื่อการกำจัดศัตรูพืชแบบชีวภาพ (แบคทีเรียกำจัดศัตรูพืช): แบคทีเรียคือจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในพืชและดิน และมีทั้งที่เป็นอันตรายและเป็นประโยชน์ แบคทีเรียที่มักนิยมใช้กันมากที่สุดเพื่อการกำจัดศัตรูพืชแบบชีวภาพคือแบคทีเรีย ในกลุ่มสกุลบาซิลลัส (Bacillus) เช่น บาซิลลัส ทูรินเจนซิส (Bacillus Thuringiensis หรือBt) ที่สามารถกำหนดเป้าไปที่แมลงศัตรูพืชที่เจาะจงได้ เช่น หนอนกระทู้หอม, หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนใยผัก, หนอนผีเสื้อขาว และหนอนเจาะสมอฝ้าย โดยไม่มีผลที่ทำอันตรายต่อแมลงศัตรูพืชธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีเชื้อ บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis หรือ Bs) ที่สามารถควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียได้ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์และพืชและสิ่งแวดล้อม โดยแมลงจะต้องกินแบคทีเรียนี้เข้าไปก่อน แล้วแบคทีเรียจึงจะเข้าไปสู่กระเพาะและผนังเซลล์ แล้วปล่อยพิษที่จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ทำให้แมลงมีอาการบวม และตัวแตกตายในที่สุด

2.3.3. เชื้อราเพื่อการกำจัดศัตรูพืช: มีเชื้อราอยู่หลายชนิดที่นำมาใช้ทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับศัตรูพืชและโรคพืชต่างๆ ในประเทศไทย เชื้อราที่ใช้มากที่สุดคือไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma) และบิวเวเรีย (Beuveria) โดยเชื้อไตรโคเดอร์ม่าจะนำมาใช้เพื่อควบคุมโรครากเน่าและโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่น ส่วนเชื้อบิวเวเรียนำมาใช้ควบคุมเพลี้ยไฟ, ไรแดง, แมลงหวี่ขาว, เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น

2.3.4. ไส้เดือนฝอย: ไส้เดือนฝอยเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ ไส้เดือนฝอยบางชนิดเป็นสาเหตุของโรคบางอย่าง เช่น ไส้เดือนฝอย Meloidogyne spp. ที่ทำให้เกิดโรครากปมในมะเขือเทศ หมาก และผักต่างๆ ส่วนไส้เดือนฝอยชนิดอื่นที่เรียกว่า ไส้เดือนฝอยที่ หากินอิสระจะไม่ก่อให้เกิดโรค ไส้เดือนฝอยเหล่านี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มที่นำไปใช้ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ สไตน์เนอร์นีม่า (Steinernema) และเฮทเทอโรแรบดิทิส (Heterorhabditis) พันธุ์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Steinernema carpocapsae  ที่ใช้ทำลายแมลงหลายชนิดด้วยการขับแบคทีเรียที่เป็นพิษเข้าไปในตัวแมลงเหล่านั้น และทำให้แมลงตายภายใน 24-48 ชั่วโมง

2.4. สารธรรมชาติเพื่อควบคุมศัตรูพืช:    มีพืชหลายชนิดในไประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นสารควบคุมศัตรูพืช และบางแห่งมีการใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น สะเดา ข่า ขมิ้น สาบเสือ ตะไคร้ หนอนตายหยาก หางไหล และพืชชนิดอื่นๆที่สามารถใช้เป็นสารไล่ และสารยับยั้งการกินและการเติบโตของแมลงศัตรูพืช ในบรรดาพืชเหล่านี้ สะเดาถือเป็นพืชที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สารสกัดที่ได้จากสะเดามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยและทั่วโลกเพื่อควบคุมศัตรูพืช

 

วิธีอนุรักษ์และปกป้องศัตรูธรรมชาติ

1. ปกป้องและอนุรักษ์พืชที่ใช้เป็นอาหารของเหล่าศัตรูธรรมชาติที่อยู่ในฟาร์ม นาข้าว ไร่ และสวน พืชเหล่านี้ได้แก่พืชในสกุล Jussiaea ได้แก่ต้นเทียนชนิดต่างๆ, ต้นขาเขียดบานไม่รู้โรยป่า, สาบแร้งสาบกา, ผักบุ้ง และหญ้าต่างๆ ต้นพืชเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญทางเศษฐกิจ แต่เกสรดอกและน้ำหวานของพวกมันเป็นอาหารตลอดทั้งปีให้กับแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ ซึ่งช่วยให้ประชากรแมลงเหล่านี้มีสุขภาพแข็งแรงและขยายพันธุ์ได้ดี

2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของศัตรูธรรมชาติ วิธีหนึ่งคือการนำวิธีปลูกพืชหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้ศัตรูธรรมชาติมีชีวิตอยู่ได้ตลอดทุกฤดูกาล ขณะเดียวกันก็เป็นการควบคุมแมลงศัตรูไม่ให้เพิ่มปริมาณขึ้นในฤดูกาลปลูกถัดไป

3. เพิ่มความชื้นด้วยการรดน้ำ หรือให้น้ำที่พอเพียงในบริเวณแปลงปลูกในช่วยฤดูแล้ง วิธีนี้จะช่วยให้ศัตรูธรรมชาติดำรงชีวิตอยู่และขยายพันธุ์ได้

4. ไม่เผาตอซังข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยว เพราะจะเป็นการทำลายสมดุลของระบบนิเวศของไร่นา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมลงศัตรูพืชขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในช่วยต้นฤดูปลูกคือการที่ศัตรูธรรมชาติถูกฆ่าตาย

5. คอยสังเกตศัตรูธรรมชาติและศัตรูพืชอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่ที่มีศัตรูธรรมชาติจำนวนมากและศัตรูพืชจำนวนน้อย เป็นต้น

ประโยชน์ของการดูแลศัตรูธรรมชาติ

1. การที่เกษตรกรใช้มาตรการการดูแลปกป้องศัตรูธรรมชาติ ถือเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในฟาร์ม นาข้าว และสวน เพื่อการควบคุมศัตรูพืชในระยะยาวและมีประสิทธิภาพ 

2. การช่วยรักษาระบบนิเวศที่สมดุลจะลดจำนวนศัตรูพืชที่มีอยู่และการเกิดขึ้นใหม่ของศัตรูพืช

3. การควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีทางชีวภาพทำให้พืชมีความปลอดภัยในการรับประทาน จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

4. การควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีทางชีวภาพให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการลดปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ต้องนำเข้าและลดอุปสรรคที่ต้องพบในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

3. สำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

   เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องติดตามและประเมินการเติบโตของพืชที่เราปลูก รวมถึงโรคที่พบ วัชพืช และแมลงศัตรูพืช ควรมีการสำรวจแปลงปลูกทุกสัปดาห์เพื่อหาดูความเสียหายที่เกิดจากศัตรูพืชและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ เช่น ศัตรูธรรมชาติ ดิน น้ำ และคุณภาพอากาศ รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อพืชที่ปลูกไว้

4. เกษตรกรคือผู้เชี่ยวชาญ

องค์ประกอบสำคัญของการเกษตรสมัยใหม่นี้คือเกษตรกรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการผลผลิตและรายได้ของตนเอง ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจว่าส่วนประกอบต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรและนำความเข้าใจนั้นมาสู่การจัดการฟาร์ม วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีอิสระ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและขอบเขตศักยภาพของการจัดการ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในฟาร์มจึงหมายถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบนิเวศทางการเกษตร

วิธีการควบคุมศัตรูพืช

วิธีการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีทางชีวภาพมีตั้งแต่วิธีที่ง่ายมากซึ่งเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ทุกวันด้วยตัวเอง เมื่อได้รับการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ไปจนถึงวิธีที่ยากขึ้นและต้องได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรและเกษตรกรมืออาชีพจะเข้าใจดีว่าในบรรดาวิธีการเหล่านี้ มีบางวิธีได้ผลเพียงเล็กน้อย ในขณะที่วิธีอื่นๆ มีผลรุนแรง ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ต้องใช้วีธีต่างๆร่วมกันหรือผสมผสานกัน โดยเป้าหมายสูงสุดคือการหาการผสมผสานที่ได้ผลมากที่สุด ประหยัดทรัพยากรมากที่สุด ปลอดภัยที่สุดสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

วิธีทางชีวภาพที่ใช้ควบคุมศัตรูพืช

1. การจัดการการปลูกที่เหมาะสม

วิธีนี้หมายถึงการรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้พืชเจริญเติบโต มีความแข็งแรง และต้านทานศัตรูพืช

1.1 การปรับปรุงดิน หมายถึงการเตรียมแปลงปลูกที่มีระดับ pH ที่เหมาะสมเพื่อให้พืชเติบโตได้ดี ให้มีปริมาณแร่ธาตุ และความสม่ำเสมอของหน้าดิน โดยไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของศัตรูพืช

1.2 การใช้พันธุ์พืชที่ดี พันธุ์พืชที่มีคุณภาพจะต้านทานศัตรูพืชได้ดีกว่า โดยให้ใช้อัตราส่วนการปลูก ระยะห่าง และฤดูกาลที่เหมาะสม

1.3 การให้น้ำและปุ๋ย ให้น้ำและปุ๋ยเป็นประจำในปริมาณและสูตรที่เหมาะสม

1.4 การไถพรวน ศัตรูพืชบางชนิดจะถูกกำจัดไปเมื่อดินถูกพลิกกลับขึ้นและได้รับแสงแดด

1.5 การกำจัดวัชพืช วัชพืชหลายชนิดเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชและเป็นแหล่งอาศัยรองของโรคพืช นอกจากนี้วัชพืชยังแย่งอาหารพืชที่เราปลูกจนทำให้พืชปลูกอ่อนแอ

1.6 การตัดแต่งกิ่ง เมื่อกิ่งก้านยาวเกินไป ใบไม้ก็จะเติบโตหนาแน่นเกินไป ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งยังทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ของศัตรูพืชได้ดีขึ้น

1.7 การปลูกพืชหมุนเวียน ควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนกันไปในแต่ละฤดู หรืออาจปลูกสลับกันไประหว่างพืชที่อยู่คนละตระกูล จะเป็นการช่วยตัดแหล่งอาหารของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด

1.8 การปลูกพืชผสม หากปลูกพืชชนิดเดียวกันในพื้นที่ขนาดใหญ่และจำนวนศัตรูพืชมีเพิ่มขึ้น จะเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ดังนั้น การปลูกพืชหลายชนิดที่ผสมผสานกันจะช่วยจำกัดแหล่งอาหารของศัตรูพืชและทำให้โอกาสในการแพร่กระจายลดลง

1.9 การเลื่อนเวลาปลูก บางครั้งควรทำการเลื่อนการปลูกพืชประจำปีบางชนิดหรือพืชที่มีอายุสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่โรคจะลุกลาม ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย มักทำการปลูกมันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม จากนั้นต้นมันสำปะหลังจะเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนมีนาคม-เมษายน ตรงกับอากาศร้อนซึ่งเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ดังนั้นจึงควรปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณกลางเดือนเมษายนเพื่อไม่ให้มันสำปะหลังขาดน้ำและยังคงความแข็งแรง จากนั้นฤดูฝนจะเกิดสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง อีกตัวอย่างหนึ่งคือการแพร่กระจายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในประเทศไทยในนาข้าวที่มีการปลูกข้าวตลอดทั้งปี นาข้าวนี้เป็นแหล่งอาหารสำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ไม่มีวันหายไป ดังนั้นจึงแนะนำว่าไม่ควรปลูกข้าวเกินปีละสองครั้งเพื่อช่วยยับยั้งวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

2. การใช้วิธีกล (Mechanical Control)

เป็นการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อลดจำนวนปริมาณศัตรูพืช หากจำนวนศัตรูพืชลดลงพอแล้ว สามารถใช้แรงงานคนได้

2.1 ใช้มือทำลาย เป็นรูปแบบการควบคุมศัตรูพืชที่ง่ายที่สุด คือใช้มือจับแมลงศัตรูพืชที่เกาะอยู่บนต้น หรือจับต้นแล้วเขย่าให้แมลงร่วงหล่นลงมาแล้วนำไปทำลาย

2.2 ใช้แรงงานคน โดยการตัดแต่งกิ่งพืชที่เป็นโรค หรือที่มีแมลงปกคลุมอยู่ จากนั้นนำไปเผาไฟเพื่อทำลายศัตรูพืช 

2.3 ใช้มุ้งคลุม การใช้มุ้งคลุมนี้เพื่อแยกพืชที่ปลูกไว้จากแมลงที่อยู่ภายนอกไม่ให้เข้ามา

2.4 ใช้กับดัก แมลงและสัตว์ศัตรูพืชอื่นๆ เช่น หนู, นก, และค้างคาว อาจกำจัดโดยการใช้กับดัก

2.5 เครื่องจักรที่ใช้มอเตอร์ เครื่องจักรที่ทำงานด้วยมอเตอร์บางชนิดสามารถใช้ในการควบคุมสัตว์รบกวนได้ เช่น เครื่องจับตั๊กแตนและเครื่องดูดแมลง

3. การใช้วิธีฟิสิกส์ (Physics Control)

เป็นการใช้วิธีการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อล่อ ขับไล่ และกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้ความร้อน เสียง และแสง  

3.1 การใช้รังสี การฉายรังสีสามารถใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืชออกจากพืชผลก่อนส่งออกไปต่างประเทศ เช่น การฉายรังสีผลไม้ก่อนส่งออกไปยังอเมริกาเพื่อฆ่าหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง และแมลงวันผลไม้พวก Bactrocera dorsalis และ B. Correcta หรือบางครั้งมีการฉายแสงสมุนไพรเพื่อฆ่าเชื้อรา  

3.2 เสืยง เครื่องมือแบบใช้มือถือ ที่ผลิตคลื่นเสียงที่ความถี่ต่ำ สามารถใช้ไล่ศัตรูพืชบางชนิดออกจากพื้นที่ได้

3.3 ความร้อน การนำดินมาอบเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ความร้อนในการกำจัดศัตรูพืชได้ บางครั้งไอน้ำร้อนยังสามารถใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืชที่เกาะติดกับพืชผล

3.4 กับดัก วิธีนี้ต้องกำหนดชนิดของแมลงไว้  ตัวอย่างเช่น การใช้แสงเพื่อดักแมลงทั้งหลายที่ชอบบินเล่นกับไฟในเวลากลางคืน (วางภาชนะใส่น้ำไว้ใต้หลอดไฟ) การใช้เครื่องดูดเพื่อดูดแมลง เป็นวิธีการที่นิยมใช้กับผีเสื้อกลางคืนและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีการใช้กับดักเมธิล ยูจีนอล ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการดักจับแมลงวันผลไม้ตัวผู้ โดยที่กับดักเหยื่อโปรตีนสามารถใช้ล่อแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัยของทั้งสองเพศ

4. การใช้ศัตรูธรรมชาติ

4.1 ชนิดของศัตรูธรรมชาติ: ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คือ ตัวห้ำ (เช่นแมลงปอ, แมงมุม, ฯลฯ), ตัวเบียน (เช่นแตนเบียนชนิดต่างๆ, ไส้เดือนฝอย, ฯลฯ) และเชื้อโรค (เช่นแบคทีเรีย, รา, ไวรัส, ฯลฯ) สามารถนำมาใช้ในการควบคุมปริมาณศัตรูพืชได้

4.2 ข้อดีในการใช้ศัตรูธรรมชาติ

  • ประหยัดต้นทุน เพราะศัตรูธรรมชาติมีอยู่แล้วในระบบนิเวศของพื้นที่เกษตรกรรม ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ทำงานให้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง
  • ให้ผลแบบยั่งยืน เพราะศัตรูธรรมชาติจะสามารถรักษาจำนวนต่อไปได้เรื่อยๆหากมีอาหารเพียงพอและไม่ถูกทำลายจากยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมี
  • ศัตรูธรรมชาติไม่ทำให้ศัตรูพืชเกิดความต้านทานโรค หรือเกิดศัตรูพืชชนิดใหม่ขึ้น
  • ศัตรูธรรมชาติไม่ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนอกจากศัตรูพืช และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ศัตรูธรรมชาติจะไม่เป็นอันตรายต่อพืชผล เพราะพืชผลที่ปลูกไว้ไม่ใช่อาหารของพวกมัน
  • ศัตรูธรรมชาติไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภค หรือสิ่งแวดล้อม

5. การควบคุมด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมัน (The Sterile Insect Technique หรือ SIT)

องค์การ FAO ได้ระบุว่าเทคนิค SIT นี้เป็นวิธีทางธรรมชาติที่ควบคุมศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อแมลงเป็นหมันถูกปล่อยออกไป พวกมันจะผสมพันธุ์กับแมลงในธรรมชาติและให้ไข่ที่ไม่สามารถฟักเป็นตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ปริมาณแมลงทั้งหมดลดลง หากปล่อยแมลงเป็นหมันออกไปมากพอ ภายใน 3 ช่วงอายุจะเป็นการลดลงของแมลงศัตรูพืชอย่างเห็นได้ชัด การควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิดด้วยวิธีนี้ประสบผลสำเร็จแล้วในประเทศไทย ได้แก่แมลงวันผลไม้หลายชนิด, หนอนใยผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย

6. การใช้สารธรรมชาติ

สารสกัดหลายชนิดจากแหล่งธรรมชาติมีศักยภาพในการควบคุมศัตรูพืช ได้แก่สารสกัดสะเดา, ตะไคร้, พลูป่า, หางไหล, หนอนตายหยาก, ฯลฯ

7. การใช้สารเคมีควบคุม

การใช้สารเคมีอย่างระมัดระวังเป็นที่ยอมรับได้ในระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาใช้วิธีนี้เมื่อจำเป็นเท่านั้นหากทำวิธีอื่นแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ

 

ข้อเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารเคมีและการใช้วิธีทางธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช

ใช้สารเคมี

ใช้วิธีทางธรรมชาติ

แก้ปัญหาได้รวดเร็ว และแก้ได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ราคาแพง (สารเคมีและค่าเช่าเครื่องพ่น)

สารเคมีทุกชนิดเป็นอันตราย

ทำให้แมลงเกิดการต้านทาน และเกิดศัตรูพืชชนิดใหม่

แก้ปัญหาได้ในระยะยาว

ราคาไม่แพง (ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือเช่าอุปกรณ์อะไร)

ปลอดภัย เพราะทุกอย่างมาจากธรรมชาติ

ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

 

อ้างอิง:

ECHOcommunity. https://www.echocommunity.org/en/resources/ce2006be-0f4c-4405-8dd9-2fdb6e4ea250. Accessed 26 July 2022

FAO. https://www.fao.org/pest-and-pesticide-management/ipm/integrated-pest-management/en/. Accessed 26 July 2022.

 


ภูมิภาค

Asia