โดย: เบนจามิน เอส. ฟิชเชอร์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดอะ เนชั่น วายแวม (YWAM) โคนา ฮาวาย


 [หมายเหตุบรรณาธิการ: คุณเบนจามิน ฟิชเชอร์เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาซึ่งเคยประจำการอยู่ที่จังหวัดชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย คุณเบนมีความต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้เป็นพิเศษ และได้ค้นพบแนวทางที่นิยมใช้กันทั่วไปในการเลี้ยงชันโรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่นั่น ข้อมูลในบทความนี้เป็นความพยายามที่เขาได้ทำการรวบรวมข้อมูลของการเลี้ยงชันโรงให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจและอ่านง่ายสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่บนเกาะชวา ข้อมูลที่รวบรวมนี้พยายามทำให้เห็นภาพรวมและคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น และไม่ใช่คู่มืออ้างอิงที่ครอบคลุมทุกหัวข้อ โดยแหล่งที่มาสำหรับการอ่านเพิ่มเติมนั้นมีอยู่ในหน้าสุดท้าย]

AN 45 Bee Fig 1

ภาพที่ 1 ทางเข้ารังชันโรง ภาพโดยt: Chris Kirby-Lambert @ Flickr

คำนำ

การเลี้ยงชันโรง หรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Meliponiculture หมายถึงการเลี้ยงผึ้งของชาติพันธุ์หนึ่งชื่อว่า Meliponini  ชันโรงนั้นมีสายพันธุ์อยู่หลายร้อยสายพันธุ์ และเป็นไปได้ที่มีสายพันธุ์ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 89 สายพันธุ์ที่พบเฉพาะในเอเชียพื้นที่กึ่งเขตร้อน/เขตร้อน และออสเตรเลีย (Rasmussen, 2008); และ แม้ว่าชันโรงหลายชนิดสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ แต่พวกมันเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากผึ้งที่นิยมนำมาเลี้ยงกัน (สายพันธุ์ Apis mellifera และ Apis cerana indica) และแม้ชันโรงจะมีเหล็กไน แต่เป็นเหล็กไนเล็กๆที่ไม่พัฒนา จึงไม่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ แต่ถึงกระนั้นพวกมันก็สามารถกัด (แม้สิ่งที่โดนกัดอาจไม่รู้สึกเจ็บเลย) และพวกมันจะทำให้ผู้ที่มาขโมยน้ำผึ้งต้องระคายเคืองโดยการโจมตีที่ตาและหู มีการเลี้ยงชันโรงมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว โดยส่วนใหญ่ในเขตร้อนของอเมริกาที่ไม่มีผึ้งมาก่อนก่อนที่ชาวอาณานิคมและนักสำรวจชาวยุโรบจะนำเข้ามาเลี้ยง ชันโรงได้รับความสนใจในด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับผึ้ง เนื่องจากปัจจัยหลายประการ

ชันโรงผลิตน้ำผึ้งที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าน้ำผึ้งที่ผลิตโดยผึ้งสายพันธุ์พื้นบ้าน สำหรับผื้งสายพันธุ์พื้นบ้านนั้น ปริมาณน้ำโดยทั่วไปจะต่ำกว่า 20% เมื่อเก็บเกี่ยว ขณะที่น้ำผึ้งจากชันโรงหลายชนิดมีน้ำอยู่ที่ 30% โดยเฉลี่ย แต่อาจมากหรือน้อยกว่า 20-45% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ยิ่งมีปริมาณน้ำสูงก็แสดงว่าน้ำผึ้งนั้นผ่านกระบวนการหมักตามธรรมชาติ ดังนั้นน้ำผึ้งของชันโรงส่วนมากจึงมีรสชาติเปรี้ยวติดอยู่ ซึ่งน่าจะเกิดจากกรดอะซิติก (กรดน้ำส้ม) หรือกรดแลคติคที่ถูกผลิตขึ้นจากกระบวนการหมัก กระบวนการหมักนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีจุลินทรีย์ เช่น ยีสต์และแบคทีเรีย ซึ่งหลายชนิดเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี ยิ่งมีปริมาณน้ำสูงแสดงว่าน้ำผึ้งจากชันโรงอาจเน่าเสียได้และควรทำการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคหากต้องการเก็บรักษาได้นานๆ นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพมากมาย และมีการวิจัยบางอย่างแสดงให้เห็นว่าการอ้างประโยชน์เหล่านั้นอาจได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง รวมถึงคุณสมบัติที่อาจเป็นไปได้ในการต้านโรคเบาหวานผ่านการปกป้องของตับอ่อน โดยทั่วไปแล้ว น้ำผึ้งของชันโรงจะขายในราคาที่สูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งเลี้ยง (Aziz et al., 2017)

ชันโรงบางสายพันธุ์จะผลิตน้ำผึ้งได้เพียงปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่ชันโรงชนิดอื่นๆยิ่งผลิตได้น้อยกว่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าผลผลิตที่ได้จากรวงผึ้งเลี้ยง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำผึ้งชันโรงมีราคาสูง นอกจากนี้ชันโรงยังมีแนวโน้มที่ไปแวะตอมดอกไม้หลากหลายชนิดมากกว่าผึ้งเลี้ยง แม้คำอธิบายบางส่วนบอกว่าเพราะพวกมันมีจำนวนสายพันธุ์มากและมีการวิจัยแสดงให้เห็นว่าชันโรงสายพันธุ์ต่างกันจะไปตอมดอกไม้ของพืชที่ตระกูลต่างกันด้วย

ชันโรงส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างเซลล์หกเหลี่ยมจากไขเหมือนกับผึ้งทั่วไป พวกมันใช้ยางไม้เพื่อทำชัน(Propollis) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ชันโรงทำขึ้นมาและอาจเรียกอีกอย่างว่า “กาวผึ้ง” ชันที่ผลิตโดยชันโรงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีไขมากกว่าชันที่ผลิตจากผึ้งทั่วไป ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกกว่า ซีรูเมน (Cerumen) ซึ่งวัสดุนี้ใช้เพื่อห่อหุ้มน้ำผึ้งใน “กระเปาะ” ขนาดเล็ก (ภาพที่ 2) และยังทำหน้าที่อุดรูรั่วต่างๆ ผลิตโครงสร้างอื่นๆภายในรัง และฝังซากสัตว์ที่ตายแล้วซึ่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ผึ้งจะจำกัดออกไปได้ (เช่น หนู หรือแมลงขนาดใหญ่อื่นๆ เป็นต้น) ชันที่ได้จากชันโรงนั้นมักมีสีเข้ม สามารถเก็บเกี่ยวและมีการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายวิธี สามารถนำไปทำสารเคลือบเงาสำหรับย้อมสีไม้ ใช้ในเครื่องสำอางบางชนิด และหากนำไปบริโภคก็จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน     โดยได้รับการพิสูจน์และยืนยันแล้ว ชันนี้ยังเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นตัวต้านไวรัสและต้านแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าชันอาจมีประสิทธิภาพในการต่อสู้และป้องกันมะเร็งได้ ที่ประเทศอินโดนีเซียนี้ ผมเคยได้ยินว่ามีคนนำชันมาใช้ในการรักษาโรคและเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง

AN 45 Bee fig 2

ภาพที่ 2 ภาพถ่ายระยะใกล้ของโครงสร้างของรังชันโรงพันธุ์อิตาม่า (Heterotrigona itama)

[หมายเหตุบรรณาธิการ: หากมีคำถาม ความคิดเห็น หรือประสบการณ์ส่วนตัวในหัวข้อนี้ ท่านสามารถส่งผ่านมายังเราได้ที่เว็บไซท์ของ echocommunity ในส่วนหัวข้อสนทนา Meliponiculture: Stingless Beekeeping.]

ชันโรงในเกาะชวา

มีข้อมูลที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับจำนวนสายพันธุ์ของชันโรงที่มีอยู่ที่เกาะชวา ข้อมูลเดียวที่ผมพบทางออนไลน์ที่บอกว่าชันโรงที่เกาะชวาอาจมี 6-9 สายพันธุ์ (หรือมากกว่า) แต่ให้ชื่อมาเพียง 6 สายพันธุ์เท่านั้นได้แก่ Geniotrigona thoracica (ปากหมูใหญ่), Heterotrigona itama (อิตาม่า), Lepidotrigona terminate (ปากแตรใหญ่), Tetragonula drescheri, Tetragonula laeviceps (รุ่งอรุณ), and Tetrigona apicalis (Pangestika et al., 2017).

ชันโรงสายพันธุ์เหล่านี้มีขนาดแตกต่างกันไป โดยชันโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในสายพันธุ์ Heterotrigona itama และ Tetrigona apicalis ซึ่งทั้งคู่มีความยาวมากกว่า 5 มม. ความแตกต่างโดยทั่วไปที่สังเกตได้ระหว่างทั้งสองสายพันธุ์คือปีกสองสีของสายพันธุ์ T. apicalis ในภาพที่เห็นนี้ (ภาพที่ 3) เราจะเห็นการเปรียบเทียบชันโรงตัวผู้สามสายพันธ์ ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่บนเกาะชวา โดยเทียบเคียงกับผึ้งพื้นเมืองในเอเชีย(ตัวซ้ายสุด) ชันโรงที่ผมคุ้นเคยมากที่สุดนั้นผมคิดว่าเป็นสายพันธุ์ T. drescheri  แต่ขณะนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะสายพันธุ์นี้ถือว่ามีขนาดเล็กกว่าสายพันธุ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ชันโรงหลายชนิดที่เรามีอยู่ที่นี่ ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นแมลงวันตัวเล็กหรือแมลงจำพวกริ้น เมื่อพิจารณาตามขนาดของพวกมัน

AN 45 Bee fig 3

ภาพที่ 3. เปรียบเทียบขนาดผึ้งและชันโรง 3 ชนิด จากซ้ายไปขวาt: Apis cerana (ผึ้งโพรง), Heterotrigona itama, Tetrigona apicalis, Tetragonula laeviceps.

ชันโรงบางชนิดอาจพบได้บนเกาะอื่นๆของอินโดนีเซียเช่นกัน และบางชนิดอาจพบได้ในพื้นที่อื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา มาเลเซีย และสิงค์โปร์ นอกจากนี้บางชนิดที่พบในอินโดนีเซียก็อาจพบได้ไกลถึงอินเดีย ผมวางแผนที่จะติดต่อมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองโบโกร์ ใกล้กับกรุงจาการ์ตาร์บนเกาะชวา เพื่อที่จะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักบนเกาะชวา เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลทางออนไลน์ได้ (ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซีย)

การย้ายรังและโครงสร้างของรัง

ตามที่เห็นจากขนาดของชันโรงและปริมาณน้ำผึ้งที่ได้จากการเก็บเกี่ยว ชันโรงมักจะสร้างรังที่มีขนาดเล็กกว่าผึ้งเลี้ยง ส่วนใหญ่แล้วชันโรงที่เกาะชวานี้ เราจะพบรังของพวกมันในกอไผ่ ไม้ ผนังที่เป็นหินหรืออิฐ หรือตามโพรงเล็กๆ มีวิธีหลายวิธีในการจับชันโรงที่อยู่ในรังเหล่านี้เพื่อย้ายพวกมันเข้าไปในรังที่เราสร้างขึ้นเพื่อเลี้ยงไว้สำหรับครัวเรือนหรือในระบบฟาร์ม

วิธีการทั่วไปที่ใช้ในการย้ายรังไปสู่ระบบที่เตรียมไว้นั้นเป็นวิธีที่ง่ายมาก เมื่อมีการค้นพบรังชันโรงในธรรมชาติ ควรดูก่อนว่ารังนี้จะจับมาได้ง่ายหรือยากเพียงใด ตัวอย่างเช่น หากรังชันโรงที่ฝังอยู่ในเศษไม้ ลำไม้ไผ่ ภาชนะพลาสติกหรือโลหะ อาจทำการย้ายรังได้โดยแค่เปิดวัสดุที่เป็นรังเก่านั้นออก แล้วเอาส่วนประกอบที่สำคัญในรังนั้นออกมาใส่ในรังใหม่ที่เราเตรียมไว้

AN 45 Bee Fig 4

ภาพที่ 4. ตัวอย่างโครงสร้างรังชันโรงที่เลี้ยงไว้ในกล่องไม้ที่เราทำขึ้น อย่าลืมว่ารังสร้างขึ้นจากชัน (Propolis) ไม่ใช่ไขอย่างที่มักจะพบในรังผึ้งสายพันธุ์ยุโรบ

ในภาพที่ 4 นี้ เราเห็นตัวอย่างโครงสร้างของรังจากด้านในรังไม้ที่เราทำขึ้นแบบง่ายๆ โครงสร้างนั้นคล้ายกับโครงสร้างของรังผึ้งมาก โดยมีข้อแตกต่างหลักๆคือตัวโครงสร้างนั้นทำจากชัน (Propolis) ไม่ใช่ไข ทางเข้าของรังนี้จะอยู่ที่ด้านบน (มองไม่เห็นจากในภาพ) มีส่วนที่เหมือนกระเปาะที่ใช้เก็บเกสร ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับตัวอ่อน กระเปาะสีขาวที่เห็นในภาพเป็นโครงสร้างถัดมาที่อยู่ในรัง โดยกระเปาะเหล่านี้เป็นที่อยู่ของตัวอ่อนที่ใกล้จะโตเต็มที่แล้วและมักจะเรียกว่า “กระเปาะตัวอ่อน” ของทั้งชันโรงและผึ้ง (ภาพที่ 4) กระเปาะเหล่านี้มักมีสีเข้มในทุกสายพันธุ์ที่บรรจุตัวอ่อนที่อายุยังน้อย กระเปาะที่มีสีขาวแสดงว่า “ตัวอ่อน” ในกระเปาะนั้นกำลังจะกลายเป็นดักแด้ ซึ่งก่อนจะเป็นชันโรงตัวเต็มวัยตัวหนึ่งนั้นจะใช้เวลาประมาณ 35-50 วัน โดยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

โครงสร้างที่สามเป็นโครงสร้างสุดท้ายในรังคือ “กระเปาะน้ำผึ้ง” ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำผึ้งของชันโรงและมักจะอยู่ห่างที่สุดจากทางเข้า เช่นเดียวกันกับผึ้งเลี้ยงที่มีพฤติกรรมนี้ ซึ่งพฤติกรรมนี้เราสามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยการติดตั้งลังเก็บน้ำผึ้งที่ป้องกันไม่ให้นางพญาเข้าไป โดยลังที่ติดตั้งไว้ด้านบนนี้ทำขึ้นมาเพื่อการแบ่งส่วนในรัง ด้านในของลังมีส่วนตะแกรงเก็บน้ำผึ้งที่ทำขึ้นเพื่อใช้เก็บน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว การแยกให้กระเปาะตัวอ่อนอยู่อีกส่วนหนึ่งของรังทำได้ด้วยการใช้แผ่นกั้นไม่ให้นางพญาผ่านเข้าออก นางพญาผึ้งและชันโรงนั้นมีตัวขนาดใหญ่กว่าผึ้งงาน หมายความว่าเราสามารถทำแผ่นกั้นนี้ให้มีช่องใหญ่พอให้เฉพาะผึ้งงานผ่านเข้าไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าผึ้งงานเหล่านี้จะนำน้ำผึ้งเข้าไป แต่ช่องว่างนี้จะเล็กกว่าตัวนางพญา ทำให้นางพญาผ่านเข้าไปไม่ได้ ถ้านางพญาเข้าไปไม่ได้ ก็จะไม่มีตัวอ่อนในส่วนที่เก็บน้ำผึ้งของรัง เพราะนางพญาจะไปวางไข่ในกระเปาะตัวอ่อน

ลักษณะของรังชันโรงบางสายพันธุ์และลักษณะการสืบพันธุ์ของพวกมันทำให้เรารู้ว่าอาจจะมีนางพญาตัวเต็มวัยที่มีชีวิตอยู่หนึ่งตัว และมีกระเปาะอีกหนึ่งหรือสองเปาะที่มีนางพญาที่ยังเป็นหนอนอยู่ หรืออาจมีแม้กระทั่งนางพญาตัวเต็มวัยอีกหนึ่งหรือสองตัวที่ยังบริสุทธิ์อยู่ หมายความว่าเราสามารถทำการแยกรังใหม่ได้อีกสองหรือสามรังจากรังเดิมในธรรมชาติหนึ่งรัง ส่วนรังที่คนนำมาแยกใหม่นั้นจะต้องมีกระเปาะเกสร, กระเปาะตัวอ่อน และกระเปาะน้ำผึ้งจากรังเดิม

เมื่อทำการย้ายรังจากโครงสร้างที่เคลื่อนย้ายได้ยากกว่าและไม่สามารถเปิดรังออกได้ เช่นกำแพงหิน คอนกรีต หรืออิฐ ขั้นตอนการย้ายอาจต้องทำด้วยการทำให้พวกมันออกมา ขั้นตอนหลักๆ (ที่น่าจะใช้กับผึ้งด้วยเช่นกัน) คือการปิดปากทางเข้ารังและเปิดช่องผ่านเข้าออกเพียงช่องเดียวด้วยท่อหรือสายยางที่นำไปต่อเข้ากับด้านหลังของรังที่เราเตรียมไว้ ท่อนี้จะต้องมีความยาวอยู่ที่ 30-50 ซม. จุดประสงค์ของการใช้ท่อหรือสายยางก็เพื่อสร้างเส้นทางเข้าใหม่ผ่านทางเข้าของรังที่เราเตรียมไว้ ชันโรงจะเริ่มใช้ท่อหรือสายยางเป็นเหมือนทางออกรังและจะเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในรังของเราเพราะความสะดวกและใกล้กับทางออก วิธีการย้ายรังนี้อาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี เหตุผลที่ใช้เวลานานกว่าเป็นเพราะตัวอ่อนชันโรงเดิมต้องโตเต็มที่และเป็นผู้ใหญ่ก่อนที่นางพญาจะย้ายไปยังกระเปาะตัวอ่อนใหม่ในรังใหม่ มีตัวอย่างซึ่งข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการย้ายรังออกจากผนังที่นำมาจากวิดีโอชื่อว่า Stingless Bees Part 2 – Getting Bees out from a Wall (Binu, 2016)

ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบวิธีการย้ายรังออกจากกำแพง เนื่องจากแหล่งข้อมูลนี้มาจากเมืองเคราลา ประเทศอินเดีย หมายความว่าข้อแนะนำที่ใช้นี้อาจใช้ไม่ได้กับสายพันธุ์ในพื้นที่ของเรา ขณะนี้ผมยังไม่ทราบว่ามีวิธีใดในการย้ายรังออกจากกำแพงในอินโดนีเซียอยู่หรือไม่

มีหลักการทั่วไปบางอย่างที่ต้องคำนึงถึงในการย้ายหรือแยกรัง คือหลังจากย้ายหรือแยกรังแล้ว รังจะเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากมด วิธีการบางอย่างที่จะป้องกันมดนั้นจะพูดถึงหลังจากหัวข้อการออกแบบรัง นอกจากนี้ รังที่ทำการแยกออกมาแล้วควรวางไว้ใกล้ๆกันก่อน (ในระยะ 1 ฟุต) ทั้งรังที่ย้ายและรังที่แยกมา(รังใหม่ที่เราเตรียมไว้) ควรวางไว้ใกล้กับตำแหน่งของรังเดิมและควรวางไว้ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน อีกอย่างที่ควรคำนึงถึงเมื่อย้ายตัวอ่อนมาสู่รังที่เราเตรียมไว้คือ กระเปาะสีขาวมีความแข็งแรงกว่ากระเปาะสีน้ำตาล นอกจากนี้ชันของชันโรงมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวล่อชันโรง ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้ชันให้เป็นประโยชน์ด้วยการติดชันไว้รอบๆทางเข้ารังใหม่เพื่อจะเป็นตัวนำทางชันโรงงานไปยังตำแหน่งของรังใหม่ เคล็ดลับอีกอย่างคือ ถ้ารังอยู่ข้างในโครงสร้างที่เป็นไม้ที่จะต้องเปิดออก ก่อนเปิดรังควรรวบรวมสมาชิกในรังให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน ซึ่งจะทำได้ด้วยการวางภาชนะดักจับที่ระบายอากาศได้ไว้เหนือทางเข้า แล้วเคาะที่รังเพื่อกระตุ้นให้ชันโรงออกมาป้องกันตัว เมื่อชันโรงเข้ามาเต็มในภาชะนะแล้วให้นำไปวางไว้ในที่ร่ม การทำเช่นนี้มีข้อดีคือ เป็นการลดจำนวนชันโรงที่อาจบาดเจ็บในช่วงกระบวนการย้ายรังและยังลดจำนวนของชันโรงที่อาจจู่โจมหรือรบกวนคนเลี้ยงได้

Thai AN 45 Stingless Beekeeping Figure 5

การออกแบบรัง

ในงานวิจัยของผมนั้น พบว่ามีการออกแบบรังอยู่หลายวิธีสำหรับการเลี้ยงชันโรงในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รังแบบต่างๆที่พบและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ได้แก่ รังธรรมชาติที่มีกะลามะพร้าวเป็นส่วนเก็บสะสมน้ำผึ้ง, กล่องไม้รูปแบบต่างๆ, รังไม้ไผ่, และรังพีวีซี ผมเห็นภาพที่ถ่ายจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่มีการสร้างรังจากภาชนะดินเผา ซึ่งน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ผมยังพบว่ามีรังชันโรงที่เลี้ยงในโพรงของท่อนไม้ด้วย (ภาพที่ 5)

รังจากกล่องไม้

รังที่ออกแบบขึ้นโดยมนุษย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แบบแรกที่ผมรู้จักคือรังที่ทำจากกล่องไม้ ซึ่งในปัจจุบัน รังกล่องไม้นี้เป็นหนึ่งในสองระบบที่ผมเห็นในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นแบบรังที่ผมเห็นในวิดีโอจากในประเทศต่างๆของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ด้วย รังกล่องไม้นี้เป็นแบบง่ายๆ คือเป็นกล่องไม้ที่มีรูเล็กๆหนึ่งรูเป็นทางเข้า โดยทั่วไป กล่องไม้จะมีฝาปิดแบบถอดออกได้ หรือสามารถแยกออกเป็นสองส่วนได้ รังต่างๆที่ผมเห็นนั้นปิดสนิทจริงๆและผนึกที่ใช้ปิดนั้นคือขี้ชันที่ได้จากชันโรง โดยปกติกล่องไม้นี้จะมีปริมาตรตั้งแต่ 1ถึง 4 ลิตร ซึ่งขนาดที่เหมาะสมที่สุดนั้นพิจารณาจากสายพันธุ์ของชันโรง เพราะชันโรงแต่ละสายพันธุ์มีขนาดตัวและขนาดรังที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน

รังของชันโรงบางแบบนั้นยังมีการนำแผ่นพลาสติกใสติดตั้งไว้ระหว่างฝาเปิดและตัวรังเพื่อสะดวกในการมองเห็นความเป็นไปภายในรัง การทำเช่นนี้เป็นไปได้เพราะชันโรงจะติดชัน (Propolis) ไว้ที่พลาสติกแทนที่จะติดไว้ที่ฝา ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเปิดฝาและคนเลี้ยงสามารถมองสังเกตรังได้ เพื่อคนเลี้ยงจะทราบว่าเมื่อใดควรจะทำการเก็บเกี่ยวและเพื่อประเมินสุขภาพและการเติบโตของรังได้

Thai AN 45 Stingless Beekeeping Figure 6

ภาพที่ 6 ตัวอย่างการออกแบบระบบสองช่องที่ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ (Bradbear, 2009)

ส่วนระบบอื่นๆที่ผมเคยเห็นนั้นจะมีสองช่องอยู่ภายในกล่องไม้ ซึ่งโดยทั่วไปจะทำโดยการวางกล่องสองกล่องซ้อนกัน ระบบนี้มักมีแผ่นที่กั้นนางพญาอยู่ด้วย (เป็นอุปกรณ์ที่กล่าวไว้แล้วก่อนหน้านี้) ที่กั้นนี้ส่วนมากเป็นเพียงแผ่นไม้กระดานที่เจาะรูไว้เพียงรูเดียวหรือหลายๆรู ระบบแบบนี้จะช่วยย้ายรังออกไปครึ่งหนึ่งได้โดยไม่ไปรบกวนตัวอ่อนและจะช่วยลดปริมาณความเสียหายที่จะเกิดกับรังเมื่อทำการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้ง และวิธีการทำแบบนี้จะช่วยลดความเสียหายต่อชันโรงที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นตัวเต็มวัย ในส่วนต่อไปจะเป็นตัวอย่างของรังกล่องไม้ที่ออกแบบโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Bradbear, 2009) (ภาพที่ 6) แบบรังกล่องไม้นี้พิเศษนี้มาจากเอกสารที่พูดถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงชันโรงในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน จึงอาจมีชันโรงบางสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั้งในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รังที่ออกแบบนี้มีรูต่างๆที่ใช้ระบายอากาศซึ่งเป็นลักษณะที่ผมยังไม่เคยเห็นในระบบอื่นมาก่อน นอกจากนี้ยังค่อนข้างใกล้เคียงกันกับการออกแบบรังที่ผมเคยเห็นมาในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งส่วนมากเป็นที่มาของแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษเรื่องการเลี้ยงชันโรงส่วนใหญ่ที่ผมได้รับมา ข้อกังวลหลักของผมเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลจากแหล่งที่มาจากออสเตรเลียคือผมไม่แน่ใจว่าชันโรงของที่นั่นมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดกับชันโรงที่เกาะชวา

รังไม้ไผ่

รังไม้ไผ่ที่ผมเคยเห็นมานั้นเป็นรังที่เรียบง่ายที่สุดที่ผมรู้จัก โดยทั่วไปแล้วรังไม้ไผ่จะเปรียบเหมือนกับรังกล่องแบบที่ง่ายที่สุด รังแบบนี้ทำได้ด้วยการเพียงแค่ผ่ากระบอกไม้ไผ่ตามยาว แล้วเจาะรูเล็กๆรูหนึ่งไว้ข้างใดข้างหนึ่ง (ภาพที่ 7) จากนั้นวางรังชันโรงไว้ด้านในแล้วยึดประกบไม้ไผ่สองซีกเข้าด้วยกันโดยใช้วัสดุ เช่นลวดหรือขี้ชันที่เหลือ การเก็บเกี่ยวจากรังแบบนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นการรบกวนรังและทำให้ทั่วทั้งรังเกิดความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานมากที่สุดในการทำรังให้กับชันโรง

AN 45 Bee Fig 7

ภาพที่ 7 ตัวอย่างรังไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีก ซึ่งถือเป็นรังแบบหนึ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด

รังกะลามะพร้าว

มีการออกแบบสองแบบหลักๆที่ผมรู้เกี่ยวกับการใช้กะลามะพร้าว อย่างแรกคือการใช้กะลา 1 ลูกสำหรับรัง 1 รัง ซึ่งระบบรังแบบนี้เป็นหนึ่งในรังที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยมีคนทำ แต่ก็มีปัญหาหลายอย่าง ได้แก่ความจำเป็นที่จะต้องทำลายรังชันโรงเกือบทั้งหมดเพื่อจะนำน้ำผึ้งออกมา และยังเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับชันโรงบางสายพันธุ์เท่านั้นเพราะพื้นที่ภายในกะลามะพร้าวนั้นมีไม่มากนัก แต่ก็มีวิธีหนึ่งที่จะดัดแปลงระบบนี้ให้ดีขึ้น ซึ่งผมจะพูดถึงในส่วนต่อไป

การใช้กะลามะพร้าวอย่างที่สองที่ผมรู้ คือระบบที่ทำกันอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่นั่น คนจะใช้กะลามะพร้าวเป็นที่เก็บน้ำผึ้ง ซึ่งทำได้ด้วยการใช้กะลาครึ่งซีกเสริมเข้าไปกับรังเพือให้เป็นส่วนเก็บน้ำผึ้ง สามารถทำได้ด้วยการเสริมกะลามะพร้าวให้เข้ากับรังเดิมที่พบในธรรมชาติ หรืออาจใช้กะลามะพร้าวหลายอันทำเป็นเหมือนกับส่วนเก็บน้ำผึ้งในรังกะลามะพร้าวหนึ่งรัง ระบบนี้เป็นการประหยัดแรงงานได้มากในการทำรังเปล่าและเป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อน กะลามะพร้าวนี้ยังมีข้อดีคือไม่เน่าเสียซึ่งจะช่วยให้โครงสร้างรังมีอายุการใช้งานที่นาน

รังพีวีซี

เราเคยเห็นเฉพาะระบบที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติและราคาถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่ระบบนี้เป็นระบบที่ได้รับการส่งเสริมโดยฟาร์มแห่งหนึ่งในเมือง เคราลา ประเทศอินเดีย ชื่อว่าฟาร์มน้ำผึ้งมาดุซรี (Madhusree Honey Farm) แม้ว่าระบบนี้ไม่ได้ทำมาจากวัสดุธรรมชาติราคาถูก แต่ก็เป็นวัสดุที่หาง่ายและมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมีราคาที่สมเหตุสมผล ชิ้นส่วนที่ทำเป็นรังนี้สามารถหาได้ตามร้านที่ขายอะไหล่และอุปกรณ์ท่อน้ำ

ประโยชน์ของรังพีวีซีนี้ไม่เพียงแค่ความทนทานและอายุที่ยืนยาวของรังเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการปรับแต่งโดยใช้วัสดุที่มีการผลิตไว้อยู่แล้ว ระบบที่จะกล่าวถึงนี้ทำให้เข้าถึงและเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้อย่างง่ายและรวดเร็ว โดยไม่ก่อให้เกิดความเครียดต่อผึ้งและทำให้รังเสียหายน้อยที่สุด ส่วนประโยชน์ที่สำคัญอย่างอื่นของรังพีวีซีนี้คือ สามารถนำไปแขวนในที่สถานที่ต่างๆ ซึ่งจะช่วยปกป้องรังจากศัตรู และช่วยในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากรังสามารถนำไปแขวนตามอาคาร ต้นไม้ ฯลฯ การทำรังแบบนี้น่าจะเหมาะกับชันโรงบนเกาะชวา เพราะที่เมืองเคราลานั้น รังแบบนี้สามารถนำไปใช้กับชันโรงหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่นั่นอย่างน้อยหนึ่งสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่มีในอินโดนีเซีย

รูปภาพต่อไปนี้ ทั้งหมดมาจากวิดิโอที่พบได้ในช่องยูทูบ ชื่อว่า Work With Nature โดยฟาร์มน้ำผึ้งมาดุซรี  และระบบการทำรังจากพีวีซีของพวกเขา ที่คิดค้นโดยผู้ก่อตั้งฟาร์มนี้ (Binu, 2016).

AN 45 Bee Fig 8.1
AN 45 Bee Fig 8.456

ภาพที่ 8. (1) ตัวอย่างของรังพีวีซี ท่อสีดำเล็กๆที่อยู่เกือบถึงด้านล่าของรังคือทางเข้า (2) รังที่เปิดช่องด้านล่างออก ช่องนี้ใช้เป็นช่องสำหรับตัวอ่อนซึ่งเป็นที่อยู่ของนางพญาและดักแด้ เมื่อทำการย้ายรัง ตัวอ่อนและเกสรจะนำมาไว้ในช่องนี้ (3) รังกับส่วนครอบด้านนอกสำหรับเอาส่วนที่แยกน้ำผึ้งออก (4) ตัวอย่างของที่กั้นนางพญา ที่ติดไว้ระหว่างช่องตัวอ่อนและส่วนเก็บน้ำผึ้ง (5) โครงสร้างภายในของส่วนเก็บน้ำผึ้งสามารถแยกออกมาเมื่อทำการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้ง (6) ตัวอย่างของส่วนเก็บน้ำผึ้งที่เต็มแล้ว และถูกแยกออกมาจากรังพีวีซีที่แขวนอยู่ เพื่อจะทำการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งและไข (Binu, 2016)

การป้องกันมด

หัวข้อสุดท้ายของบทความนี้จะเป็นการพูดคุยสั้นๆเกี่ยวกับการป้องกันมด ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อมีการแยกขยายรัง หรือเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งใหม่ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งจะเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากศัตรูเช่นมด ระบบหลักๆในการป้องกันมดคือการออกแบบทำ “คูน้ำ” ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมากที่สุดเพราะมดจะไม่ข้ามผ่านของเหลวเช่นน้ำหรือน้ำมัน หากรังตั้งอยู่บนโต๊ะเล็กๆหรืออะไรก็ตามที่มี “ขา” การแก้ปัญหาก็จะค่อนข้างง่าย คือ เพียงเอาขาโต๊ะหรือขาเสาแต่ละข้างใส่ไว้ในกระป๋อง (หรือภาชนะอื่น) แล้วเติมน้ำหรือน้ำมันลงในกระป๋องเหล่านั้น เพื่อให้วิธีการนี้ได้ผลต้องระวังอย่าให้ขาโต๊ะหรือเสาสัมผัสกับด้านข้างของกระป๋อง

ในกรณีของรังที่แขวนอยู่ โดยทั่วไปแล้วควรมีการดัดแปลงบางอย่างที่เชือกหรือลวดที่ใช้ยึดรังกับที่แขวนไว้ การดัดแปลงนี้ที่สำคัญคือจะต้องมีที่เก็บน้ำได้เพื่อจะป้องกันมด วิธีอื่นในการป้องกันการโจมตีของมดได้แก่ การทาของเหนียวๆหรือลื่นๆไว้รอบๆด้านบนของรังที่เป็นส่วนเก็บน้ำผึ้งหรือทาไว้ที่เชือกหรือลวดที่ติดกับที่แขวน โดยอาจใช้วาสลีนหรือกระดาษกาวดักแมลง และข้อแนะนำสุดท้ายสำหรับรังที่แขวนคือการแขวนด้วยสายเอ็นตกปลา เพราะสายเอ็นนี้จะยากต่อมดในการไต่และจะช่วยป้องกันรังได้ โดยสายเอ็นต้องมีความหนาพอที่จะรับน้ำหนักของรัง

อ้างอิง

Aziz, M.S.A., Giribabu N, Rao P.V., Salleh N. 2017. Pancreatoprotective effects of Geniotrigona thoracica stingless bee honey in streptozotocin-nicotinamide-induced male diabetic rats. Pubmed. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28222394

Binu, P.T. 2016. Stingless Bees/Meliponiculture Part 1 – Designing the Beehives and Getting the Honey! Work With Nature. Nov. 13, 2016. https://www.youtube.com/watch?v=Av43ZiQP1UQ&list=PLhAXjvNqBVlOCeJ8sr8n_bK0nOYAQzOv&index=1+14

Binu, P.T. 2016. Stingless Bees/Meliponiculture Part 2 - Getting Bees out from a Wall! Including the Queen! Work With Nature. Nov. 20. 2016. https://www.youtube.com/watch?v=EvbnWpLWFFQ

Bradbear, N. 2009. Bees and their role in forest livelihoods. A guide to the services provided by bees and the sustainable harvesting, processing, and marketing of their products. Chapter 6: Meliponiculture of Stingless Bees. Foof & Agriculture Organization of the United Nations. http://www.fao.org/3/i0842e/i0842e00.pdf

Rasmussen, C. 2008. Catalog of the Indo-Malayan/Australasian stingless bees (Hymenoptera: Apidae: Meliponini). Zootaxa 1935. https://www.researchgate.net/publication/271214026_Catalog_of_the_Indo-MalayanAustralasian_stingless_bees_Hymenoptera_Apidae_Meliponini

Pangestika, N.W., Atmowidi, T., and Kahono, S. 2017. Pollen load and flower constancy of three species of stingless bees (Hymenoptera, Apidae, Meliponinae). Tropical Life Sciences Research 28(2):179–187. doi: 10.21315/tlsr2017.28.2.13